head-banhardsumlan207
วันที่ 20 เมษายน 2024 2:07 AM
ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ โรงเรียนบ้านหาดสำราญ มิตรภาพที่ 207
โรงเรียนบ้านหาดสำราญ มิตรภาพที่ 207
หน้าหลัก » นานาสาระ » เด็กกับสื่อออนไลน์

เด็กกับสื่อออนไลน์

อัพเดทวันที่ 21 ธันวาคม 2020

เด็กกับสื่อออนไลน์

เด็กกับสื่อออนไลน์

เด็กกับสื่อออนไลน์ ในการประชุมผู้ปกครองฝ่ายประถมของโรงเรียนครั้งนี้ มีวาระการประชุมที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ตั้งใจจะเข้าร่วม เป็นเรื่องของสื่อออนไลน์ที่มีผลกระทบต่อเด็ก  ทั้งนี้ผู้ปกครองทุกคนต่างทราบดีว่าเด็กสามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้ง่ายมากเพราะเป็นสื่อที่แพร่หลาย  หากมองในเชิงบวกแล้ว เด็กสามารถเรียนรู้เรื่องราวต่างได้ดีและมีความสนุก  ตลอดจนช่วยสร้างทักษะหลายๆ อย่างที่นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้    ในการประชุมวาระนี้  ทางโรงเรียนได้เชิญนักจิตวิทยาเด็ก2 คนจากโรงพยาบาลประจำจังหวัดมาร่วมการพบปะพูดคุยด้วย

 

พนิดา นักจิตวิทยาชำนาญการพิเศษ เริ่มต้นด้วยการถามผู้ปกครองว่า “ตอนนี้มีลูกหลานของผู้ปกครองท่านใดบ้างที่ได้รับผลกระทบจากสื่อออนไลน์และแสดงผลออกมาให้เห็นบ้างแล้วคะ”  มีผู้ปครองหลายคนยกมือขึ้น  พนิดาจึงชี้ให้ผู้ปกครองแต่ละคนพูด “ดิฉันเป็นคุณแม่น้องไอวี่ค่ะ ตอนนี้น้องไอวี่น้ำหนักเพิ่มขึ้นมากเลยค่ะ” นิตยา ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาชำนาญการ กล่าวเสริมว่า “เด็กติดสื่อออนไลน์  เค้ามักจะไม่สนใจทานข้าวปลาอาหาร จนบางคนก็ผอมลง  หรือบางคนก็เอาแต่ทานขนมที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย จนมีนิสัยกินจุบจิบ ทำให้อ้วนแต่ไม่แข็งแรงนะคะ  น้องไอวี่อาจจะเข้าข่ายนี้” 

 

ผู้ปกครองอีกคนกล่าวว่า  “ดิฉันเป็นผู้ปกครองน้องพอใจค่ะ ตอนนี้น้องนอกจากอ้วนแล้วยังฟันผุด้วย” นิตยาชี้ให้เห็นว่า “พอเด็กอยู่กับสื่อออนไลน์ เค้าก็อาจจะหยิบโน่นนี่นั่นทาน อย่างขนมหวานพอทานไปนานๆ ก็จะเกิดฟันผุได้”  มีผู้ปกครองอีกคนยกมือขึ้นและบอกว่า “ลูกชายของผม น้องมิกกี้ เค้าต้องใส่แว่นสายตาแล้วครับ” พนิดาจึงกล่าวเสริมว่า “การใช้อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ในระยะใกล้เป็นเวลานาน ก็ทำให้สายตาสั้นได้ง่าย เดี๋ยวนี้เราจะเห็นเด็กตัวเล็กๆ ใส่แว่นสายตากันเยอะมากเลย”   ผู้ปกครองคนหนึ่งถามขึ้นว่า “ดิฉันให้น้องกล้าสวมหูฟังระหว่างเล่นไอแพด จะมีผลเสียอะไรหรือเปล่าคะ” พนิดาตอบว่า “

 

การใส่อุปกรณ์หูฟังหรือเปิดเสียงที่ดังเกินไป อาจจะส่งผลให้ประสาทการได้ยินถูกกระทบกระเทือนได้นะคะ  ทั้งหมดที่ผู้ปกครองนำมาเล่าสู่กันฟัง  นี่เป็นผลของสื่อออนไลน์ที่กระทบต่อสุขภาพกายและโภชนาการของเด็ก    และอยากจะเสริมอีกอย่างนะคะ การปล่อยให้เด็กอยู่กับสื่อออนไลน์นานๆ  เด็กจะเกิดความเครียดทั้งทางร่างกายและทางประสาทได้ด้วย  เพราะขณะที่เด็กดู  เค้าก็อาจจะเปลี่ยนช่องทางสื่อไปมาตลอดเวลา ซึ่งมันเป็นการกระตุ้นสมองให้ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา”

 

จากนั้นนิตยาได้เปิดให้ดูวิดีโอที่แสดงถึงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงของเด็กกลุ่มหนึ่งที่ชอบเล่นเกมส์ที่มีการต่อสู้เพื่อเอาชนะกัน  พร้อมกล่าวว่า “เกมส์ที่เด็กในวิดีโอเล่นเป็นเกมส์ใช้แต่อารมณ์ที่มุ่งเอาชนะเป็นสำคัญ เด็กที่เล่นเกมส์แบบนี้จะเกิดการเลียนแบบ  เด็กจะจำแล้วทำตามพฤติกรรมของตัวละครในเกมส์  จนนานเข้าก็กลายเป็นพฤติกรรมของตัวเด็กไปเลยค่ะ”  ผู้ปกครองคนหนึ่งยกมือขึ้น “ขออนุญาตค่ะ  ดิฉันเป็นน้าของน้องอิคิว  น้องชอบเล่นเกมส์มาก จนตอนนี้ไม่มีเพื่อนฝูงเลยค่ะ” นิตยาจึงบอกว่า “นี่แสดงว่าเด็กขาดพัฒนาการทางสังคม เพราะจิตใจเด็กหมกหมุ่นกับเกมส์ จนตัดสิ่งรอบตัวไปจนหมด 

 

ทำให้ทักษะที่จะใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นค่อยๆ หายไป  ต่อไปก็จะปรับตัวให้เข้ากับสังคมภายนอกได้ยากขึ้นนะคะ”  ผู้ปกครองอีกคนถามว่า  “สวัสดีครับ  ผมเป็นผู้ปกครองของน้องคิมหันต์  หลานผมเค้าชอบดูพวกเกมส์โชว์  แบบนี้จะเกิดผลกระทบอะไรบ้างครับ”  พนิดาตอบไปว่า “ตั้งแต่หลังจากดูวิดีโอนี่  สิ่งที่ผู้ปกครองนำมาแลกเปลี่ยนคือ ผลของสื่อออนไลน์ต่อพฤติกรรมของเด็ก  ส่วนคำถามเกี่ยวกับเกมส์โชว์ที่เด็กดูก็สามารถส่งผลได้ค่ะ เพราะเกมส์โชว์มักให้ผู้เข้าแข่งขันได้รางวัลอย่างง่ายๆ   เด็กก็จะคิดว่าสามารถได้เงินทองของรางวัลมาง่ายๆ ในเกมส์โชว์นี่เค้าจะเน้นความสนุกสนานซึ่งจะเร้าใจมากกว่าการได้เห็นการทำงานจริงๆ 

 

สิ่งที่ตามมาก็คือ เด็กจะไม่เห็นคุณค่าของการทำงาน หวังลมๆ แล้งๆ จะได้เงินทองจากเกมส์โชว์ค่ะ”   นิตยากล่าวเสริมว่า  “โฆษณาสินค้าบางทีก็ใช้ความเกินจริงมานำเสนอ  บางครั้งเด็กเค้าเสพเข้าไปโดยเห็นแค่ความตื่นตาตื่นใจ  ยังคิดผิดชอบไม่เป็น  ก็ทำให้อยากได้สินค้านั้นขึ้นมา  แล้วถ้าผู้ปกครองก็เป็นไปด้วย ตามใจ  ซื้อหามาให้  ก็ยิ่งทำให้เด็กคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง นี่คือการสร้างพฤติกรรมผิดๆ ให้เด็กเลยนะคะ”

 

พนิดาเปิดสถิติการอ่านของประชากรไทยประจำปีขี้นบนจอภาพให้ผู้ปกครองได้ดู พร้อมกับกล่าวว่า “ที่เห็นนี่เป็นสถิติการอ่านของคนไทยนะคะ  สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ เค้าระบุว่า มีคนไทยร้อยละ 78.8 อ่าน ก็แสดงว่า มีคนไทยที่ไม่อ่านถึงร้อยละ 21.2  แล้วคนไทยอ่านนานสุด 80 นาทีต่อวัน    ส่วนสิ่งที่อ่านเป็นการอ่านหนังสือร้อยละ 88 และอ่านบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 75.4 แสดงว่าสื่อออนไลน์ก็มีผลต่อสติปัญญาของเด็กได้เช่นกัน”  นิตยากล่าวต่อมาว่า “โดยทั่วไปแล้ว สื่อจะมีการนำเสนออย่างต่อเนื่อง  เด็กซึ่งมีความคิดวิเคราะห์ได้ต่ำอยู่แล้ว ก็ยิ่งไม่สามารถหยุดเพื่อคิดวิเคราะห์ถึงสาระ 

 

ผลที่ตามมาเด็กก็จะมีความรู้แบบผิวเผิน พอนานไปก็ไม่สามารถใช้เหตุผลและสติปัญญา  จนสุดท้ายเด็กก็จะไม่อ่านหนังสืออีกต่อไป เพราะสื่อออนไลน์มันน่าสนใจกว่า”  มีผู้ปกครองยกมือขึ้น “ดิฉันเป็นผู้ปกครองของน้องนะโม  หากเด็กไม่ชอบอ่านหนังสือจะเกิดอะไรขึ้นหรือคะ”    พนิดาช่วยตอบว่า “เด็กจะไม่สามารถพัฒนาด้านภาษาได้ค่ะ   พอเด็กรู้สำนวนภาษาใหม่ๆ จากภาษาพูด ก็นำมาใช้โดยที่ไม่เข้าใจความหมาย  รวมทั้งอาจจะใช้ไม่ถูกกาลเทศะด้วยนะคะ”

 

ต่อมานิตยาได้ฉายภาพเกี่ยวกับการแต่งกาย และการบริโภคของเด็กไทยในอดีตเปรียบเทียบกับปัจจุบัน พร้อมกับกล่าวว่า  “สื่อออนไลน์ยังส่งผลต่อวัฒนธรรมไทยด้วยนะคะ   โฆษณาเดี๋ยวนี้เค้ายึดหลักการเป็นหนึ่งเดียวกันทั่วโลก เพราะฉะนั้นเวลาเด็กเสพโฆษณาพวกนี้เข้าไป มันจะเข้าไปอยู่ในจิตใจของเด็กจนทำให้กลายเป็นเด็กไทยที่มีจิตใจแบบต่างชาติ แถมยังด้อยคุณภาพอีกด้วยนะคะ พอเด็กพวกนี้โตขึ้น  เราก็จะมีพลเมืองที่อ่อนแอและไร้สำนึกความเป็นไทย”

 

นิตยากล่าวในช่วงสุดท้ายว่า “ถ้าผู้ปกครองปล่อยให้เด็กดูสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง มันจะมีผลโดยตรงกับสมองของเด็กเลยนะคะ   มีผลการศึกษาออกมาแล้วว่า เด็กอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ขวบที่ปล่อยให้ดูสื่อออนไลน์จะเกี่ยวข้องกับโรคออทิสติก จากประวัติเด็กออทิสติกส่วนมากจะอยู่หน้าจออุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์มากกว่าเด็กปกติ รวมทั้งจะมีปัญหาด้านภาษา ไม่ว่าจะเป็น พูดได้ช้า ไม่รู้ความหมายคำ ไม่เข้าใจประโยค”  และพนิดามากล่าวเสริมว่า “มีผู้ปกครองพาเด็กมาหาหมอ เพราะดูโฆษณาขนมขบเคี้ยว แล้วก็ไปหาซื้อมาทาน  สุดท้ายเด็กมีปัญหาสุขภาพ ดูซูบซีด

 

ผอม เนื่องจากขาดสารอาหาร บางคนก็ท้องผูกเพราะขนมมีแต่แป้งไม่มีใยอาหารเลย  เด็กบางคนที่มาพบหมอก็มีปัญหาด้านบุคลิกภาพ  มีหลายกรณีที่นักจิตวิทยาพบว่าเด็กขาดความเมตตา พอสอบถามก็เลยทราบว่าชินกับความรุนแรงก้าวร้าวในเกมส์บนสื่อออนไลน์” สิ่งที่นักจิตวิทยาทั้งสองฝากผู้ปกครองไว้ก็คือ หากให้เด็กใช้สื่อออนไลน์  ผู้ปกครองก็ควรดูแลอย่างใกล้ชิด   ทั้งให้คำแนะนำ  ตอบคำถามของเด็ก  ชี้แนะถึงสิ่งที่ไม่เหมาะสม  และจำกัดเวลาในการใช้สื่ออิเลคทรอนิกส์ทั้งหลาย   เพื่อสุขภาพกายและใจที่ดีของเด็ก

 

นานาสาระ ล่าสุด
Banner 1
Banner 2
Banner 3
Banner 4